ว่าด้วยกิจกรรมวันแม่ ควรเป็นอย่างไรสำหรับคนที่ 'ไม่มีแม่'
วันแม่เป็นวันที่หลายประเทศยกให้เป็นวันสำคัญสำหรับการระลึกถึงบทบาทและความสำคัญของ 'แม่' ในหลายแง่มุมแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการให้กำเนิด การเลี้ยงดู การให้ความรัก และการเสียสละ แต่เมื่อเด็กบางคนเติบโตขึ้นมาโดยไม่มี 'แม่' วันแม่ก็อาจกลายเป็นวันแห่งความเจ็บปวด หากสังคมยังตอกย้ำนิยามของครอบครัวไว้ว่าต้องมีแม่
งานวิจัยหลายชิ้นชี้ตรงกันว่าเด็กกำพร้าเป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางและเสี่ยงต่อการถูกกระทบกระเทือนทางร่างกายและจิตใจมากกว่าเด็กทั่วไป (ตัวอย่าง https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6008989/) ปรากฎการณ์นี้พบได้ในประเทศไทยเช่นกัน โดยเฉพาะในสถานศึกษาซึ่งมีการจัดกิจกรรมระลึกถึงแม่ แต่กิจกรรมเหล่านั้นอาจไม่โอบอุ้มดูแลเด็กกำพร้าหรือเด็กที่ไม่ได้อยู่กับแม่
การออกแบบกระบวนการคิดคำนึง
สาขาหนึ่งของการออกแบบที่คนทั่วไปมักไม่นึกถึงแต่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตมาก คือ 'การออกแบบกระบวนการเรียนรู้' (learning process design) หรือ 'การออกแบบกิจกรรม' (activity design) ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์ในการอธิบายเหตุและผลขององค์ประกอบที่ถูกใส่เข้าไปในกิจกรรม
ในการจัดกิจกรรมวันแม่หากสถานศึกษาหรือหน่วยงานเน้นให้เด็กมุ่งความสนใจไปที่ 'บุคคล' ที่เป็นแม่ ย่อมเป็นการตอกย้ำความขาดของเด็กที่ไม่ได้อยู่กับแม่ การเปลี่ยนจุดสนใจของวันแม่จาก 'คนที่เป็นแม่' ไปสู่ 'ความเป็นแม่' (motherhood) จึงอาจเป็นทางออกที่จะทำให้ทุกคนสามารถระลึกถึงสิ่งสำคัญที่เป็นแกนกลางของวันแม่ได้ตรงกัน โดยไม่ต้องรู้สึกว่าตนเองขาดพร่องสิ่งใด
การลดความเสี่ยงที่จะทิ้งเด็กบางคนไว้ข้างหลัง อาจทำได้โดย
1) ชวนระลึกถึง 'ความเป็นแม่' มากกว่าการมุ่งความสนใจไปที่ 'บุคคลที่เป็นแม่'
2) อาจชวนเล่าถึง 'บทบาท' ของการให้ความรักและการดูแลเอาใจใส่ของคนในสังคม เช่น พี่เลี้ยง พยาบาล ป้า น้า ยาย
3) ชวนระลึกถึง 'แม่' ที่อยู่ในเนื้อในหนังและในจิตใจ หรือระลึกถึงความเป็นแม่ที่อยู่กับเราตลอดเวลา
4) ไม่ควรบังคับให้ทำกิจกรรมหากเด็กคนใดไม่ยินดีเข้าร่วม และอาจต้องมีพื้นที่กิจกรรมอื่นที่รองรับเด็กที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมวันแม่
5) นิยามความเป็นครอบครัวเสียใหม่ โดยไม่ยึดติดกับจำนวนและองค์ประกอบของคนในครอบครัว
SolidSprout
ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม
Comments