ไม่ต้องเป็นพืชก็สามารถสังเคราะห์แสงได้ เมื่อเสื้อผ้าช่วยสร้างออกซิเจน
จากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยถึงสองแห่ง ได้แก่ University of British Colombia และ Emily Carr University ทำให้ได้ผืนผ้าที่สามารถสังเคราะห์แสงได้เหมือนพืช ช่วยเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นออกซิเจนได้ในขณะที่สวมใส่ และอาจส่งผลกระเทือนต่อการรับรู้ที่ผู้คนมีต่อแฟชั่น
ด้วยการทำงานของนักออกแบบลูกครึ่งแคนาดา-อิหร่าน Roya Aghighi ซึ่งสนใจเรื่องผลกระทบที่วงการแฟชั่นกำลังกระทำต่อโลก ทั้งในด้านการผลิตเส้นใยผ้าที่อาศัยพลังงานไฟฟ้า น้ำ และสารเคมีจำนวนมาก เสี่ยงต่อการปล่อยมลพิษลงสู่แหล่งน้ำและอากาศ รวมถึงการตลาดของแฟชั่นส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้คนตกอยู่ในวังวนของวัตถุนิยม (Materialism) หาซื้อเสื้อผ้ามาใช้อย่างฉาบฉวยเกินความจำเป็นและไม่รู้จักจบสิ้น นี่ยังไม่นับถึงการจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นอย่างประปรายในประเทศโลกที่สาม
การออกแบบการใช้งานอย่างละเมียดละไม
Aghighi (http://royaaghighi.com/) พัฒนาเส้นใยผ้าด้วยแนวคิดที่เรียกว่า ‘Biofabrication’ เป็นการผสานเส้นใยผ้าเข้ากับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ จนได้ผลงานที่ชื่อว่า Biogarmentry ซึ่งฝังสาหร่ายเซลล์เดียวสีเขียว Chlamydomonas reinhardtii ลงไปในเส้นใยที่ถักทอด้วยนาโนโพลิเมอร์ (nano-polymer) จนได้เส้นใยที่นุ่มเหนียวเหมือนลินิน และเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ความเป็นไปได้ในการนำวัสดุมาใช้ร่วมกับกระบวนการของสิ่งมีชีวิต
Biogarmentry นอกจากจะเป็นงานทดลองที่เปิดประตูบานใหม่ให้แก่การผลิตเสื้อผ้าธรรมชาติ ยังเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ทางความคิดที่มุ่งให้คนหันกลับมาใส่ใจดูแลเสื้อผ้าของตัวเองมากกว่าที่จะใช้อย่างไม่รู้คุณค่าแบบแฟชั่นกระแสหลักหรือ fast fashion เพราะสาหร่ายเซลล์เดียวที่อยู่ในเส้นใยผ้านี้จะมีชีวิตอยู่ได้นานหรือไม่ล้วนขึ้นอยู่กับความใส่ใจของคนที่สวมใส่ที่จะนำออกมารับแสงแดดเป็นประจำและพ่นละอองน้ำให้กับเสื้อผ้าทุกสัปดาห์ โดยหวังว่าแนวคิดนี้จะทำให้คนมีความผูกพันกับเสื้อผ้าของตนเองมากขึ้น หลีกหนีการซื้อหาเสื้อผ้าใหม่ และใช้เสื้อผ้าที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและรู้คุณค่า
SolidSprout
ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม
Comments