top of page

อ อ ก แ บ บ เ พื่ อ ส ร้ า ง ส ร ร ค์ สั ง ค ม

D E S I G N   f o r   S O C I A L   I M P A C T S

พลาสติกจากเกล็ดปลา

อีกทางเลือกที่น่าจับตามองของพลาสติกจากธรรมชาติ ซึ่งผลิตจากของเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมอาหาร



นักศึกษาจาก University of Sussex สหราชอาณาจักร ชนะเลิศการประกวดออกแบบ James Dyson Award ในปีนี้ นำโดย Lucy Hughes ซึ่งทำการทดลองกับวัสดุนับร้อยชนิด แล้วมาจบลงที่การใช้เกล็ดปลาในการเปลี่ยนรูปให้เป็นพลาสติก ซึ่งมีความแข็งแรงกว่าพลาสติกจากปิโตรเลียม และสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ


จากแรงบันดาลใจที่พบว่าตัวเลขแนวโน้มการผลิตพลาสติกจากปิโตรเลียมยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยหากมนุษย์ยังคงใช้พลาสติกในอัตราเร่งแบบปัจจุบัน ในปี 2050 คาดการณ์ว่าปริมาณพลาสติกจะมีน้ำหนักมากกว่าปลาทั้งหมดในมหาสมุทรรวมกัน ปัญหานี้เกิดขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งก่อมลภาวะตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต และเมื่อใช้งานเสร็จแล้วก็ยังทิ้งภาระให้โลกเนื่องไม่สามารถย่อยสลายได้ง่ายๆ


การออกแบบเปลี่ยนรูปของเสียเป็นของใช้

ในขณะที่พลาสติกทั่วไปต้องใช้ปิโตรเลียมเป็นวัสดุในการผลิต พลาสติกของ Hughes กลับเกิดจากการทดลองเลือกใช้วัสดุในธรรมชาติซึ่งพบได้จากอาหารและของเหลือทิ้งในบ้านหลากหลายประเภท โดยพบว่าในแต่ละปีอุตสาหกรรมอาหารทะเลมีเกล็ดปลาที่ถูกทิ้งเป็นของเสียมากถึง 50 ล้านตัน ด้วยปริมาณที่มากเท่านี้ Hughes จึงพยายามค้นหาประโยชน์ที่จะสร้างขึ้นได้จากของเสียนั้น และมาจบลงที่การนำมาทำเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้


พลาสติกชนิดนี้มีชื่อว่า MarinaTex (https://www.jamesdysonaward.org/2019/project/marinatex/) มีความโปร่งแสง ยืดหยุ่นได้ดี ใช้วัสดุหลักคือเกล็ดปลาเหลือทิ้งและมีตัวเชื่อมประสานคือสาหร่ายทะเลสีแดง วัสดุทั้งหมดสามารถหาได้จากท้องถิ่นจึงลดการขนส่งในขั้นตอนการผลิต สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติภายใน 4-6 สัปดาห์ ต่างจากไบโอพลาสติกยอดนิยมในปัจจุบันอย่าง PLA (poly-lactic acid) ซึ่งย่อยสลายได้เฉพาะภายใต้สภาวะพิเศษในห้องทดลองและอาจไม่ย่อยสลายได้จริงในธรรมชาติอย่างที่เคยกล่าวอ้าง นอกจากนี้ MarinaTex ยังทนทานต่อแรงดึงมากกว่าพลาสติกจากปิโตรเลียม และขั้นตอนการผลิตทั้งหมดยังทำภายใต้อุณหภูมิน้อยกว่า 100 องศาเซลเซียส จึงใช้พลังงานน้อยมาก


SolidSprout

ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม

bottom of page