top of page

อ อ ก แ บ บ เ พื่ อ ส ร้ า ง ส ร ร ค์ สั ง ค ม

D E S I G N   f o r   S O C I A L   I M P A C T S

วิธีรับมือน้ำท่วมของโตเกียว

เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง จากเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นฮากิบิสและการบริหารจัดการน้ำของญี่ปุ่น



หลังการถูกโจมตีโดยพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส (Hagibis) นี่ไม่ได้เป็นเพียงพายุขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 60 ปี แต่พายุลูกนี้ยังสามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น เพราะบุกตรงมาขึ้นฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองโตเกียวซึ่งเป็นเมืองหลวงและเมืองศูนย์กลางทางธุรกิจที่สำคัญ ก่อนจะเคลื่อนผ่านไปสู่ตอนบนของมหาสมุทรแปซิฟิกต่อไป



เหตุการณ์ในครั้งนี้หลายประเทศต่างให้ความสนใจและแสดงความวิตกกังวล เพราะจากประสบการณ์ในอดีตเมื่อปี 2501 ญี่ปุ่นเคยถูกพายุที่มีขนาดใกล้เคียงกันกับพายุฮากิบิสครั้งนี้โจมตี ครั้งนั้นคือพายุไอดา (Ida) และความเสียหายก็มากจนน่าเศร้าเพราะมีผู้เสียชีวิตถึง 1,269 ราย แต่ในปี 2562 เมื่อพายุฮากิบิสมาเยือน เหตุใดคนญี่ปุ่นจึงไม่วิตกกังวลมากนัก และเมื่อพายุได้ผ่านพ้นไปตัวเลขผู้เสียชีวิตก็มีเพียง 26 ราย


การออกแบบทั้งโครงสร้างและคน

ด้วยความสำคัญของเมืองโตเกียวซึ่งมีจำนวนประชากรเทียบเท่า 1 ใน 5 ของประเทศไทย และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการหมุนเวียนเงินตราที่สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันเมืองโตเกียวก็ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม เพราะพื้นที่เมืองนับร้อยตารางกิโลเมตรมีความสูงต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เมืองโตเกียวยังเป็นจุดรับน้ำจากแม่น้ำถึง 8 สาย และญี่ปุ่นก็อยู่ภายใต้พื้นที่ที่อ่อนไหวต่อการเกิดภัยธรรมชาติ การออกแบบระบบการจัดการน้ำจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเมืองให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ


01


เมืองโตเกียวเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างและตึกสูง ขาดพื้นที่ซับน้ำตามธรรมชาติที่จะช่วยชะลอและกำจัดน้ำส่วนเกินเหมือนเมืองอื่นๆ แต่ข้อจำกัดนี้ก็ไม่ทำให้โตเกียวต้องยอมแพ้ เพราะวิธีการแก้ไขของเมืองคือการสร้างห้องเก็บกักและกำจัดน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไว้ใต้ดิน มีชื่อว่า Metropolitan Area Outer Underground Discharge Channel หรือ ‘G-Cans’ (http://www.ktr.mlit.go.jp/edogawa/gaikaku/index.html) ใช้เวลาสร้างนานถึง 15 ปี แล้วเสร็จไปเมื่อปี 2549 ห้องเก็บกักและกำจัดน้ำของโตเกียวนี้เป็นสิ่งปลูกสร้างใต้ดินที่อยู่ลึกลงไป 50 เมตร จำนวน 5 ห้อง มีความสูงของห้องเก็บน้ำ 65 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 32 เมตร เชื่อมต่อกันด้วยท่อยาว 6.3 กิโลเมตร และติดตั้งเครื่องสูบน้ำประสิทธิภาพสูงซึ่งสามารถกำจัดน้ำออกจากพื้นที่ได้วินาทีละ 200 ลูกบาศก์เมตร ด้วยความยิ่งใหญ่ของ G-Cans ทำให้โตเกียวกลายเป็นเมืองต้นแบบในการศึกษาดูงานเพื่อการวางระบบใต้ดินสำหรับกำจัดน้ำออกจากเมืองของหลายประเทศทั่วโลก


02


นอกจากการสร้างห้องกักเก็บน้ำและกำจัดน้ำไว้ใต้ดิน โตเกียวยังจัดสรรพื้นที่ของเมืองเพื่อสร้างพื้นที่รับน้ำในลักษณะของ artificial wetland ที่ชื่อว่า ‘Watarase-Yusuichi’ (https://watarase.or.jp/) เพื่อชะลอการไหลของน้ำและยังรองรับการอยู่อาศัยของสัตว์และพืชในธรรมชาติ โดยปัจจุบันมีพืชมากกว่า 700 สายพันธุ์ และในจำนวนนี้มีมากกว่า 50 สายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มพืชหายาก รวมทั้งนกอีกมากกว่าหนึ่งร้อยชนิด จนทำให้ Watarase-Yusuichi กลายเป็นแหล่งอนุรักษ์และเรียนรู้ธรรมชาติที่สำคัญ ด้วยเส้นทางเดิน 11.5 กิโลเมตรที่ทอดยาวตลอดแม่น้ำ Watarase


03

โตเกียวไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับน้ำและกำจัดน้ำเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่เพื่อดูแลประชากรในเวลาที่เกิดภัยพิบัติ พื้นที่ดังกล่าวคือ Disaster Prevention Parks ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการและตรวจจับความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติที่กระจายตัวตั้งอยู่ในหลายพื้นที่ โดยมีพื้นที่รวมกัน 810,000 ตารางเมตร สามารถรองรับการอพยพของคนในเมืองได้นับแสนคน มีศูนย์เครื่องมือและสถานพยาบาลเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างพรั่งพร้อม และยังใช้เป็นศูนย์กระจายความช่วยเหลือในช่วงเวลาที่เกิดภัยพิบัติได้


04


หนึ่งในศูนย์บัญชาการและจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติของโตเกียวคือ ‘The Tokyo Rinkai Disaster Prevention Park’ (http://www.tokyorinkai-koen.jp/) ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ในการประเมินภัยพิบัติและพยาบาลผู้ได้รับผลกระทบ ที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ของคนในเมืองเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรับมือกับภัยพิบัติได้หลากหลายชนิด โดยแบ่งพื้นที่การให้ความรู้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติ (ชั้น 2) และส่วนการเรียนรู้เพื่อรับมือกับสถานการณ์เมื่อเกิดภัยพิบัติ (ชั้น 1) เพื้อให้ประชากรในเมืองสามารถเอาตัวรอดและสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้ในเวลาที่จำเป็น


การรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายของโตเกียวไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและจริงจังเท่านั้น สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากโตเกียวคือการให้ความสำคัญกับการให้ความรู้แก่คนในเมือง เพื่อให้ทุกคนสามารถช่วยกันดูแลตนเองและคนรอบข้าง รวมทั้งเชื่อมต่อกลไกการตอบสนองของเมืองเข้ากับความสามารถในการเข้าถึงความช่วยเหลือได้ของทุกคน เหมือนดังที่ Yusuyuki Osa ผู้จัดการแผนกของ G-Cans ได้เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The New York Times ว่า “นี่เป็นอีกบทบาทสำคัญ คือการทำให้คนขบคิดเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และวิธีการที่เราจะปรับตัวให้เข้ากับมัน”


SolidSprout

ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม

Comments


bottom of page