top of page

อ อ ก แ บ บ เ พื่ อ ส ร้ า ง ส ร ร ค์ สั ง ค ม

D E S I G N   f o r   S O C I A L   I M P A C T S

อิฐ+บวบ ทำอาคารให้มีชีวิต

ก้อนอิฐที่ทำจาก 'บวบ' จะช่วยให้อาคาร 'หายใจได้' และยังลดมลพิษจากการก่อสร้าง



นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างที่เริ่มต้นจากความเรียบง่ายและแนวคิดที่อยากให้ผู้คนกับธรรมชาติได้อยู่กันอย่างสมดุลและยั่งยืน พัฒนาโดยกลุ่มนักวิจัยในเมืองมุมไบ (Mumbai) นำโดย Shreyas More (https://in.linkedin.com/in/shreyas-more-9a110540) จากสถาบันการออกแบบและนวัตกรรมแห่งอินเดีย (Indian School of Design and Innovation)


การออกแบบก้อนอิฐชนิดใหม่ครั้งนี้เริ่มต้นจากประเด็นปัญหาด้านการก่อสร้างโดยทั่วไปซึ่งทำให้คนกับธรรมชาติต้องถูกตัดขาดออกจากกัน การก่อสร้างอาคารแต่ละครั้งไม่เพียงแต่สร้างกำแพงขึ้นมาในทางกายภาพ แต่ยังสร้าง 'กำแพงทางนิเวศ' ที่ขวางกั้นคนกับธรรมชาติให้รู้จักกันน้อยลง และทำให้ช่องว่างของสมดุลการใช้ชีวิตระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมถอยห่างจากกันมากขึ้นทุกที


การออกแบบจากจุดเด่นของธรรมชาติใกล้ตัว

การพัฒนา 'อิฐบวบ' ในครั้งนี้เป็นการกลับมาใช้ประโยชน์จากการมองเห็นรากเหง้าของวัสดุใกล้ตัว โดยวัสดุหลักที่ถูกใช้เป็นโครงสร้างของอิฐนี้คือ 'บวบ' ซึ่งปกติคนส่วนใหญ่จะใช้ใยบวบในการนำไปขัดตัวตอนอาบน้ำ แต่เมื่อพบว่าเส้นใยของบวบมีความแข็งแรง เหนียว ยืดหยุ่นได้ดี และมีรูพรุนจำนวนมาก เมื่อนำมาทำเป็นโครงสร้างของอิฐจึงช่วยลดการใช้ปูนซีเมนต์และเหล็กเส้น และยังทำให้สิ่งปลูกสร้างได้คุณสมบัติใหม่ขึ้นมาอีกหลายอย่าง


อิฐใยบวบนี้มีชื่อว่า Green Charcoal โดยนักออกแบบนำใยบวบมาหุ้มด้วยวัสดุธรรมชาติอย่างดินและถ่านไม้ จนทำให้อิฐบวบสามารถช่วยฟอกอากาศ รักษาระดับความชื้น และลดอุณหภูมิให้กับอากาศโดยรอบได้ นอกจากนี้รูพรุนที่มากถึง 20% ยังสามารถรองรับการอยู่อาศัยของพืชและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้อาคารช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและทำให้คนได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น เป็นการทำให้กำแพงของอาคาร 'มีชีวิต' หายใจได้ และยังรองรับชีวิตอีกมากมายทั้งในอาคารและ 'ในกำแพง' ซึ่งจะทำให้เกิดการเกื้อกูลกันระหว่างคนกับธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง


SolidSprout

ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม

Comments


bottom of page