“ตัวแปรสำคัญของความยั่งยืนคือความสุข เพราะคนที่มีความสุขเท่านั้นที่จะใช้ชีวิตแบบยั่งยืนได้”
บทสัมภาษณ์ Gorana Sheperd และ Adam Selvey บน dezeen
เราถูกเรียกร้องให้จินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่าเดิม เราต้องการให้คาร์บอนเป็น 0 มีเศรษฐกิจที่ฟื้นฟูตัวเองได้ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็กำลังกดดันพวกเรา แต่คนที่มีความสุขเท่านั้นที่สามารถใช้ชีวิตแบบยั่งยืน และเราจะลืมเรื่องนี้ไม่ได้
สังคมเรามักจะมองเรื่องต่าง ๆ อย่างง่าย ๆ และลืมว่าหลายสิ่งมีความเชื่อมโยงกัน เวลาที่เราเลือกอะไรบางอย่างด้วยมิติความเข้าใจเดียว อีกไม่กี่ปีหลังจากนั้นเราก็จะพบว่ามันส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่อย่างอื่น เหมือนอย่างที่ยุโรปเคยรณรงค์ให้ใช้รถน้ำมันดีเซลเพื่อลดภาวะโลกร้อน จนสุดท้ายเราได้พบว่ามันทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพอันเกิดจากสารไนโตรเจนมอนอกไซด์
เราต้องมองภาพกว้าง เราต้องมองที่ ‘ความสุข’
ตลอดสิบปีมานี้คนในสังคมเริ่มสนใจเรื่องความสุขกันมากขึ้น นับตั้งแต่วิกฤตการณ์ Covid-19 องค์การพัฒนาและสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (OECD) ก็ได้ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกเพิ่มตัวแปรด้านความสุขลงไปในการประเมินนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ ในขณะที่ประเทศนอร์เวย์กำลังได้รับความสนใจอย่างมากเพราะถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่คนในประเทศมีความสุขในระดับสูง
จุดโฟกัสเดียวของเราในปัจจุบันซึ่งมุ่งที่การลดใช้พลังงานและลดการปลดปล่อยคาร์บอนนั้นยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการขยายตัวของเมืองเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 การจะดูแลเรื่องสุขภาพของคนจึงต้องเริ่มต้นที่การป้องกันตั้งแต่แรก หัวใจสำคัญที่ WHO ได้แนะนำแก่สถาปนิกและนักวางผังเมืองคือการถ่ายทอดนโยบายด้านสุขภาพให้ออกมาเป็นวิธีการในการวางผังเมือง ในประเทศอังกฤษ Lord Crisp ได้ขยับวิธีการจัดการให้ไปไกลกว่าเพียงแค่การบังคับใช้กฎหมาย เพราะกฎหมายเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการทำให้คนมีสุขภาพดีและมีความสุข
เราสนับสนุนแนวคิดที่เชื่อว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นจริงได้นั้นก็ต่อเมื่อผ่านการคิดเชิงระบบ (systems thinking) การคิดลักษณะนี้ควรนำมาใช้ภายใต้ประเด็นความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และสุขภาพ/ความสุข มันชัดเจนแล้วว่าพวกเราจะต้องขยับไปให้ไกลกว่าการมุ่งขับเคลื่อนในมิติเดียวอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องหยิบปรัชญาการคิดแบบระบบนิเวศ (ecosystems) มาใช้งาน
เมืองทั้งหลายควรจะสร้างประโยชน์ให้แก่คนที่ใช้ชีวิตอยู่ ควรจะสวยงาม และควรจะให้ความสำคัญdy[วัฒนธรรมของคนที่อาศัยอยู่ในนั้น เพื่อให้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ได้มีแรงบันดาลใจ มีความอยากที่จะเรียนรู้ และมีความรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองนั้น คนที่มีความสุขมีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตแบบยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง พวกเขาแทบไม่ต้องการพึ่งพาการช่วยเหลือ พวกเขาลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ด้วยการช่วยเหลือกันระหว่างเพื่อนบ้าน ทั้งนี้เมืองนั้นจะต้องผ่านการออกแบบให้บ้าน ร้านค้า หน่วยงานบริการ ที่ทำงาน และธรรมชาติ ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน
ปัจจุบันการให้ความสำคัญแต่เฉพาะการจัดการพลังงานและการปลดปล่อยคาร์บอนนั้นมันใช้ไม่ได้ผล เพราะมันละเลยในเรื่องที่ว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะมีสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืนได้
หากเราเข้าใจว่ามนุษย์และธรรมชาตินั้นพึ่งพากัน เราก็จะสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทั้งธรรมชาติและมนุษย์สามารถงอกงามได้ทั้งคู่
การคิดเชิงระบบแบบนี้ยังขาดไปอย่างมากในการออกแบบบ้านและการจัดผังเมือง มันก็จำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องจัดการปัญหาที่ซับซ้อนนี้ แม้แต่ WHO ก็ยังสนับสนุนให้มุ่งการตอบสนองด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศด้วยการคิดเชิงระบบ การคิดลักษณะนี้มีความจำเป็นทั้งในระดับการออกแบบสิ่งปลูกสร้างและทั้งในระดับการออกแบบผังเมือง
ถึงเวลาแล้วที่นักวิชาชีพต่าง ๆ ที่ทำงานด้านการปลูกสร้างจะต้องร่วมกันจินตนาการถึงความยั่งยืนกันอีกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่อง ‘ความสุข’ ในโลกอนาคต หากเรามุ่งเป้าให้ ‘การออกแบบ’ นั้นเป็นการเพิ่มความสุขให้ทุกคน เราก็จะไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น
SolidSprout
ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม
Reference: Dezeen, The simplistic solution of net-zero buildings is a rushed silver bullet
Comentarios