Green Branding หรือการวางภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจไม่ใช่แค่วิธีการ แต่คือจิตวิญญาณใหม่ที่กำลังจะทำให้สินค้าและบริการสามารถครองใจผู้บริโภคได้อย่างมั่นคงมากขึ้น
ทศวรรษที่ผ่านมา Green Branding ได้ถูกนำเข้ามาสู่กระแสของการสร้างตัวตนแบรนด์ (Branding) กันมาระรอกหนึ่งแล้ว แต่ด้วยสภาพสังคมและประชากรในตอนนั้นที่ยังมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและทัศนคติของผู้คน ทำให้ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร บ้างก็ให้เหตุผลว่า Green Branding ต้องใช้ความพยายามและความรู้ในการบริหารจัดการมากเกินไป บ้างก็ว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน บ้างก็ว่า Green Branding เป็นการจับฐานลูกค้าขนาดเล็กเกินไปและไม่ได้มีความน่าสนใจในเชิงการตลาดขนาดนั้น
เหตุผลดังกล่าวอาจจะจริงในทศวรรษที่แล้ว แต่ในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้นี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ลงความเห็นว่า Green Branding กำลังจะกลับมาสร้างการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง และการกลับมาครั้งนี้จะยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าครั้งที่แล้ว เพราะโลกกำลังพลิกโฉมหน้าไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของประชากร ด้วยการเกิดขึ้นของคนเจนซี (Gen Z)
ผู้ใหญ่วัยทำงานในยุคนี้จำนวนหนึ่งเป็นประชากรในกลุ่มเจนเอ็กซ์ (Gen X) (เกิดปี พ.ศ. 2510 ถึง 2525) และจำนวนมากเป็นคนเจนวาย (Gen Y) (เกิดปี พ.ศ. 2525 ถึง 2540) ซึ่งวางเป้าหมายในการใช้ชีวิตอยู่ที่การแสวงหาความแตกต่างให้แก่ตนเอง ใฝ่หาอิสรภาพ ความสะดวกสบาย การได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูงและคนรอบข้าง และมีความสุขกับการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัย
ในขณะเดียวกัน คน Gen Z (เกิดปี 2540 ถึง 2555) กลับมุ่งความสนใจไปที่การมีพื้นที่ส่วนตัว การได้ทำงานและเรียนรู้หลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน การแบ่งบทบาทหน้าที่ของตนเองและเปิดโอกาสไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ตลอดเวลา ความมั่นคงยั่งยืน (safety, stability and sustainability) รวมทั้งวิธีคิดที่คำนึงถึงผลกระทบและความเป็นอยู่ของสิ่งรอบข้างตามความเป็นจริง และพยายามครุ่นคิดพัฒนาตัวเองให้รู้เท่าทันสิ่งต่างๆ (อ้างอิงจาก Marcie Merriman, 2015) หรือมองว่า
"ความรู้และการตัดสินใจที่ถูกต้องสำหรับสิ่งทั้งมวล เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่าการได้ครอบครองสิ่งของนอกกาย"
ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้โลกกำลังจะถูกขับเคลื่อนด้วยคนวัยทำงานในวัย Gen Y และ Gen Z ก่อนจะก้าวเข้าสู่ยุคของคน Gen Z อย่างเต็มตัว คุณลักษณะสำคัญในการดำรงธุรกิจกับคนกลุ่มใหม่นี้คงหนีไม่พ้นการเตรียมตัวเพื่อสรรหาข้อมูลจำนวนมาก พร้อมจะเปิดเผยความเป็นจริงและบอกเล่าเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับโลก สิ่งแวดล้อม และผู้คน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนที่ต้องการความมั่นคงและความสามารถในการตัดสินใจอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งคำนึงถึงผลกระทบด้านต่างๆ อย่างรอบด้านและยั่งยืน
ก่อนหน้านี้ เราได้ชวนมองข้อดีของการปรับธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปแล้ว โดยจะเห็นว่าสามารถส่งผลดีต่อทั้งกระบวนการและต่อภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการ คือ
1. ช่วยให้ผู้บริโภคไว้วางใจ
2. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
3. ขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มรักสิ่งแวดล้อม
4. สร้างความรู้สึกเป็นมิตรในการทำงานในบริษัท
5. ลดความเสี่ยงจากการสะท้อนกลับของภาพลักษณ์เชิงลบ
(งานวิจัยของ Jialing Lin et al., 2017)
เมื่อรวมเอาปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรเข้าไปแล้ว เราคงต้องเพิ่มบทบาทที่สำคัญของ Green Branding ซึ่งจะพลิกโฉมหน้าของการตลาดไปอย่างสิ้นเชิงเข้าไปด้วย นั่นคือ...
"Green Branding จะทำให้สินค้าและบริการสามารถเข้าไปครองใจประชากรกลุ่มหลักที่กำลังขับเคลื่อนสังคม"
และนี่คือโอกาสในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ของสินค้าและบริการ รวมทั้งสื่อและภาพลักษณ์ขององค์กร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการด้านการตลาดในอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปขนานใหญ่ในเร็ววัน
* พัฒนาแบรนด์และสื่อที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อผู้คน สิ่งแวดล้อม สังคม และโลก กับเราที่ SolidSprout
#ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม
แหล่งอ้างอิงในบทความนี้
1. Lin, J., Lobo, A., & Leckie, C. (2017). Green brand benefits and their influence on brand loyalty. Marketing Intelligence & Planning, 35(3), 425-440.
2. Merriman, M. (2015). What if the next big disruptor isn’ta what but a who. Gen Z is connected, informed and ready for business. Retrieved September, 1, 2015.
Comentarios