top of page

อ อ ก แ บ บ เ พื่ อ ส ร้ า ง ส ร ร ค์ สั ง ค ม

D E S I G N   f o r   S O C I A L   I M P A C T S

ปัญหาการเมืองที่มากกว่าการเมือง อะไรคือรากของปัญหา?

กรณีของเพนกวิน รุ้ง ไผ่ ทนายอานนท์ และอีกหลายเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในประเทศนี้ ถูกผัดเปลี่ยนหมุนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า คงไม่มีใครอยากให้ความสูญเสียต้องเกิดขึ้นอีก และทุกครั้งมีการตั้งคำถามว่า "เราจะหยุดวงจรนี้ได้อย่างไร" ...


อย่าคิดเลยว่าประเทศนี้เป็นดินแดนต้องคำสาป
อย่าคิดเลยว่าฉันทำอะไรไม่ได้หรอก

เราขอชวนทุกคนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านแบบแผน 'การออกแบบ' ที่เราใช้ในการจัดการกับโจทย์ปัญหา

เราพบว่า 'การออกแบบที่ดีมาจากการเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต' และเราขอแบ่งปันกระบวนการออกแบบนี้ให้ได้ลองใช้ร่วมกัน



กรณีของเพนกวิน การอดอาหารประท้วงเรียกร้องให้ศาลเปิดทางให้มีการประกันตัวตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2564 ตามมาด้วยการอดอาหารเย็นของรุ้งเพื่อแสดงการยืนหยัดเคียงข้างเพนกวิน


จนล่วงเลยเวลามากว่า 30 วัน อาการของเพนกวินทรุดหนักจนถ่ายเป็นเลือด และเกิดกระแสการเรียกร้องจากประชาชนจำนวนมาก พฤติกรรมของเพนกวินถูกมองว่าเป็น 'เสรีภาพในการแสดงออก' ในขณะที่ฝั่งผู้ถือกฎหมายกลับไม่ได้คิดเห็นอย่างนั้น


หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าภายใต้รูปคดีเดียวกัน หากเป็นนักโทษคนอื่นๆ ก็จะได้รับการประกันตัว แต่สำหรับเพนกวินกลับไม่ได้รับการดูแลในมาตรฐานเดียวกัน

คำถามคือ มีเหตุจำเป็นใดที่ทำให้ศาลไม่อาจให้การประกันตัว? และ เพนกวินเป็นผู้ที่เป็นอันตรายต่อใคร(หรือต่ออะไร)?


แน่นอนว่าการเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพนกวินเป็นหนทางเร่งด่วนที่จำเป็น แต่หากเราจะทำให้สังคมไทยหลุดพ้นออกจากวงจรนี้ การจัดการกับปัญหาอย่างถึงรากถึงโคนก็อาจเป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกัน



กระบวนการในแผนภาพนี้เป็นขั้นตอนคร่าวๆ ใน 'การออกแบบ' ที่อาจใช้ในการจัดการกับปัญหาทั่วไปได้ เพราะเราเชื่อว่าสังคมที่เราใช้ชีวิตร่วมกันนี้ก็เป็นผลมาจาก 'การออกแบบ' ที่เกิดขึ้นจากรุ่นก่อนๆ


ขั้นตอนแรก ระบุปัญหาให้ชัดเจน คำถามคือในปัจจุบันนี้ประชาชนสามารถ 'พูด' เกี่ยวกับปัญหาได้มากน้อยเพียงใด หากเราไม่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาได้ การแก้ไขปัญหาก็ย่อมเป็นไปได้ยาก


ขั้นตอนถัดไปที่จะต้องเผชิญคือการรวบรวมข้อมูล การศึกษาเชิงลึก และการวิเคราะห์รากของปัญหา ขั้นตอนเหล่านี้ต้องอาศัยการเปิดเผยข้อมูลอย่างไม่ปิดบัง โดยมี 'ความโปร่งใส' และข้อมูลเปิด (open data) เป็นปัจจัยสนับสนุน


การจะมองเห็นรากของปัญหาได้อาจต้องเริ่มต้นระบุให้ได้ก่อนว่า 'ต้นไม้' ที่เราสนใจนั้นอยู่ที่ใด



อาจไม่จำเป็นต้องรีบขุดดินลงไป แต่ลองมองออกไปให้กว้างว่ามีต้นไม้อยู่ตรงไหนบ้าง เมื่อมองเห็นยอดไม้แล้ว ก็จึงค่อยไต่ลงและขุดให้ลึกลงไป


ยอดไม้ก็เหมือนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีใบไม้ที่ผลิใบขึ้นใหม่และหลุดร่วงซ้ำแล้วซ้ำอีก เหตุการณ์ในครั้งนี้มีตัวละครคือเพนกวิน ครั้งก่อนหน้านี้คือไผ่ และก่อนหน้านั้นอีกก็มีคนที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันหลายต่อหลายคน หลายยุค หลายสมัย


ภายใต้สถานการณ์ที่มีตัวละครผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาหลายยุคแล้วนั้น คือแบบแผนของปัญหาที่ต้องสังเคราะห์ให้ได้



ลองดูแบบแผนการตอบสนองของศาล แบบแผนพฤติกรรมของตำรวจ แบบแผนพฤติกรรมของทหาร แบบแผนพฤติกรรมของสถาบันต่างๆ และแบบแผนของเหยื่อในทุกๆ ครั้ง


เราก็จะเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบใดที่ยึดโยงเรื่องราวเหล่านั้น เหตุการณ์ในทุกครั้งแม้จะถูกเปลี่ยน 'ฉาก' แต่โครงเรื่องนั้นคือเรื่องเดิม

หากเปรียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น 'ละครน้ำเน่า' ที่ถูกเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีก สิ่งที่ต่างออกไปมีเพียงการเปลี่ยนชื่อเรื่อง เปลี่ยนตัวละคร เปลี่ยนฉาก เปลี่ยนยุคสมัย แต่เนื้อหาหลักยังคงเดิมเสมอ


รากของปัญหาอาจยึดโยงกับ 'ผู้กำกับ' ของละครน้ำเน่าโรงใหญ่



ผู้กำกับอาจเป็นใครสักคนหนึ่ง สถาบันสักสถาบันหนึ่ง หรืออาจเป็นคนในสังคมทุกคน เพราะเราทุกคนแท้จริงก็มีส่วนในการกำกับละครเรื่องนี้อยู่พร้อมๆ กัน


หากระบุได้แล้วว่ารากของปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ขั้นตอนถัดไปคือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์

หลายคนอาจมีความเห็นเกี่ยวกับทางออกที่แตกต่างกันไปสำหรับทางเลือกที่จะใช้จัดการกับปัญหา แต่เราอาจไม่มีทางรู้เลยว่าวิธีการใดจะเหมาะสมที่สุด จนกว่าจะมีการคาดคะเน แลกเปลี่ยนข้อมูล ตัดสินใจร่วมกัน และลงมือใช้จริงๆ



ดังนั้น ระบบที่รองรับการเสนอทางออกอย่างมีเสรีภาพจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ เพราะหากประชาชนทุกคนในฐานะ 'นักออกแบบประเทศ' ต้องแสดงความคิดเห็นภายใต้ความกลัวและความหวาดระแวง ผลงานที่ออกแบบที่ได้ก็จะย่อมไม่สามารถทลายข้อจำกัดเดิม และเป็นไปได้สูงที่สังคมก็จะยังคงติดกรอบปัญหาเดิมๆ ซึ่งไม่อาจจะจัดการกับต้นตอของปัญหาได้จริงๆ



SolidSprout

ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม

Comments


bottom of page