จะออกแบบให้ได้ทางออก อาจต้องละทิ้งวิธีการเสียก่อน
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) ใช้หลักการในการออกแบบที่ละทิ้งวิธีการแก้ปัญหาที่คุ้นเคยทั้งหมด แล้วมุ่งมาที่ผลลัพธ์ในการแก้ปัญหา เป็นการเปิดโอกาสที่จะเข้าถึงทางแก้ปัญหาในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน วิธีการเรียกว่า ‘Generative Design’
การออกแบบโดยมุ่งเป้าหมาย
การทำงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Autodesk กับ NASA เพื่อสร้างงานออกแบบในโครงการ GAMMA ( https://www.autodesk.com/campaigns/generative-design/lander ) ใช้วิธีการ Generative Design ในการคิดค้นยานที่ขับเคลื่อนในอวกาศ จนได้ยานอวกาศที่มีน้ำหนักเบากว่ายานอวกาศทั่วไปถึง 35% การออกแบบลักษณะนี้ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อน จนกระทั่งทีมงานได้เปลี่ยนกระบวนการออกแบบเสียใหม่
Generative Design (การออกแบบเชิงก่อกำเนิด) เป็นวิธีการออกแบบที่กลับทิศทางกับวิธีคิดของคนทั่วไป เพราะปกติเมื่อจะออกแบบอะไรสักอย่าง คนส่วนใหญ่มักติดอยู่กับวิธีแก้ปัญหาวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือมักจะมีตัวแปรในเรื่องความเป็นไปได้ในการผลิตเข้ามาเกี่ยวข้องจนความคิดใหม่ถูกปิดกั้น แต่การออกแบบเชิงก่อกำเนิดเลือกวางวิธีการและข้อจำกัดไว้ด้านข้างก่อน แล้วหันมาใส่ใจกับผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ที่ต้องการ โดยส่วนใหญ่จะมีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเป็นตัวช่วยด้วย เพราะสมองของมนุษย์มีข้อเสียเปรียบคือเรื่องความกังวลในข้อจำกัดและการยึดติดกับสิ่งที่คุ้นเคย การใช้ AI จึงช่วยให้การเข้าถึงทางออกของปัญหาทำได้ง่ายและไวมากขึ้น
การทำงานครั้งนี้ของ NASA ใช้การออกแบบเชิงก่อกำเนิดมี AI เป็นผู้คำนวณและช่วยออกแบบโครงสร้างของยานอวกาศมากกว่า 300 แบบในระยะเวลา 100 วัน จนได้ผลผลิตสุดท้ายเป็นยานอวกาศที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างในด้านโครงสร้างการประกอบยาน (ภาพในโพสต์) โดย AI ได้ทำให้ทีมงานมองเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างยานด้วยวิธีที่ไม่ต้องใช้วัสดุปริมาณมาก แต่กลับแข็งแรงจนสามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าน้ำหนักของตัวเองถึง 10 เท่า ต่างจากยานอวกาศรุ่นอื่นๆ ซึ่งรับน้ำหนักได้เพียง 5 เท่าของน้ำหนักตัวเอง การออกแบบเชิงก่อกำเนิดแม้จะเป็นเรื่องใหม่ แต่ด้วยการพัฒนา AI ให้มีความสามารถมากขึ้นอย่างต่อเนื่องก็อาจช่วยให้งานสร้างสรรค์ของผู้ผลิตและนักออกแบบในอนาคตได้พบกับความเป็นไปได้ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
SolidSprout
ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม
Comments