ความคิดเกี่ยวกับการออกแบบโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม (socially responsible design) ไม่ใช่เรื่องใหม่ในศตวรรษนี้ เราคงเคยได้ยินกันมาบ้างเกี่ยวกับการออกแบบและการผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการกำจัดหลังใช้งาน แต่การออกแบบกำลังจะมีบทบาททางสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อการสร้างความตระหนักในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยุติธรรม ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมของประชาชน ไปจนถึงสิทธิและเสรีภาพต่างๆ ในวิถีทางประชาธิปไตย
ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่คนไทยจะได้มีสิทธิในการเลือกตั้งอีกครั้ง SolidSprout ขอเชิญชวนทุกคนมาพูดคุยกันเกี่ยวกับประเด็นการออกแบบกับการพัฒนาสังคมไทยไปด้วยกัน
01 จากการรวบรวมข้อมูลของเรา พบว่างานออกแบบสามารถมีผลกระทบทางสังคมได้ในหลายมิติ เช่น
การแสดงตัวเป็นหลักฐานของความขัดสนหรือความต้องการของคนในสังคม งานออกแบบลักษณะนี้จะตอบโจทย์การใช้งานหรือรูปแบบความงามที่เฉพาะเจาะจงกับยุคสมัย
การเพิ่มคุณสมบัติที่ช่วยลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมลงไปในงานออกแบบ เช่น การออกแบบโดยใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ การออกแบบโดยมีขั้นตอนการผลิตที่ปล่อยสารพิษน้อยลง หรือสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในผู้ด้อยโอกาส
การเป็นสื่อกลางในการวิพากษ์วิธีปฏิบัติของคนหรือกลุ่มคนในสังคม มักพบงานแบบนี้ได้ในพื้นที่ทางศิลปะ แกเลอรี่ หรือหอศิลป์ต่างๆ ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบทางจิตใจมากกว่าการก่อประโยชน์ใหม่ในการใช้งาน
การเป็นเครื่องมือในการขยายความรู้สึกหรือทำให้สารที่ต้องการสื่อมีความชัดเจนมากขึ้น งานลักษณะนี้มักไม่ได้ต้องการนำเสนอชิ้นงานออกแบบนั้นโดยตรง แต่การออกแบบจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการผลิตสื่อ เพื่อให้การสื่อสารเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
02 การออกแบบเป็นการทำงานเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่แล้ว เพียงแต่ในศตวรรษก่อนหน้านี้งานออกแบบอาจไม่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของสังคมในเชิงระบบมากนัก การเกิดขึ้นของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ยังเป็นการสนับสนุนให้งานออกแบบสามารถมีพื้นที่ของตนเองโดยไม่ผูกยึดโยงกับอำนาจใดๆ (แม้แต่ระบอบประชาธิปไตยเองก็ตาม!)
Neo-liberalism : แนวคิดเกี่ยวกับเสรีภาพของมนุษย์ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงในรูปแบบการดำเนินชีวิตของปัจเจกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเสรีภาพในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันอื่นๆ ที่จะไม่ถูกแทกแซงโดยรัฐ
03 วลีที่ว่า "The Elephant in the Room" เปรียบเทียบการมีช้างตัวใหญ่อยู่ในห้องซึ่งกำลังสร้างความอึดอัดให้ทุกคนแต่ทุกคนกลับเพิกเฉยไม่กล้าปริปากพูดถึงช้างตัวนั้น คงคล้ายกับสภาวะในสังคมของเรา ที่บางครั้งมีหลายสิ่งที่กำลังสร้างความคับข้องใจ แต่ทุกคนกลับเลือกที่จะปิดปากไม่พูดถึงมัน
การออกแบบในศตวรรษนี้จึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการเปิดเผยสภาวะความอึดอัดนั้นให้คนในสังคมได้รับรู้ ด้วยความหวังว่าการเน้นย้ำถึงการมีตัวตนของช้างจะช่วยผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมตามมา เพราะการเพิกเฉยต่อช้างไม่ได้ทำให้ช้างได้เดินออกจากห้องไป แต่มันยังสนับสนุนให้ช้างสามารถใช้พื้นที่อยู่ในห้องได้ ตราบเท่าที่ช้างตัวนั้นรู้สึกสบายใจ
SolidSprout
#ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม
Comentarios